1. "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเปิดสอนใน 19 คณะ "อักษรศาสตร์-บัญชี" เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามากๆ และมีสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย คือ "พระเกี้ยว" ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ เนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นจามจุรี
2. "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เป็นมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก่อตั้งในชื่อ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป ต่อมาใน พ.ศ. 2495 รัฐบาลเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอายุเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพัฒนาการทางการเมือง และความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519
3. "มหาวิทยาลัยมหิดล" สถาบันศึกษาที่มาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า"โรงเรียนแพทยากร" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็น "มหาวิทยาลัยมหิดล"
4. "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ โดยมีปณิธานในการก่อตั้งเพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่การกสิกรรมและการเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ บริหารธุรกิจ และศิลปศาสตร์
5. "มหาวิทยาลัยศิลปากร" มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดี มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถือกำเนิดจากโรงเรียนปราณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็นโรงเรียนศิลปากร และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2486 พระยาอนุมานราชธนร่วมกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงทางศิลปะของชาติ
ปัจจุบันสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การเกษตร ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยสากลอย่างสมบูรณ์
6. "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ" มหาวิทยาลัยนี้พัฒนาจาก โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2492 และต่อมาพัฒนาเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2497 และพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ พ.ศ.2517 โดยเป็น "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร"
7. มาดูสถานศึกษาในต่างจังหวัดกันบ้าง "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยในส่วนภูมิภาค เพื่อขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ต่างจังหวัด โดยรัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย และเป็นอันดับ 5 ในด้านการวิจัยของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วย
8. "มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง" ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา "แม่ฟ้าหลวง" เป็นชื่อมหาวิทยาลัย ปัจจุบันประกอบด้วยสำนักวิชา 12 สำนัก เป็นมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระดับอนุปริญญา 1 หลักสูตร ปริญญาตรี 33 สาขา ปริญญาโท 26 สาขา ปริญญาเอก 15 สาขา
หนังสือพิมพ์ไทมส์ เคยจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยได้รับการลงคะแนนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในประเทศไทย และสวยที่สุดแห่งเอเชีย
9. "มหาวิทยาลัยบูรพา" มหาวิทยาลัยแห่งภาคตะวันออก ที่ตั้งอยู่ริมชายทะเลบางแสน จังหวัดชลบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2498 โดยอดีตเป็นวิทยาเขตหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อว่า วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน
ทั้งนี้ วันที่ 8 กรกฎาคม หรือที่เรียกว่า "แปดกรกฎ" ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้รับการยกวิทยฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยโดยเอกเทศ ด้วยผลการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2533" ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ.2533 ปัจจุบันมหาวิทยาลัยบูรพา จัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก ในหลากหลายกลุ่มสาขาวิชา
10. "มหาวิทยาลัยขอนแก่น" มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2552 ด้วยเหตุผลนี้ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอัตราการสอบแข่งขันเข้าเรียนมากที่สุดในภูมิภาค
ว่าแล้ว...ก็อยากกลับไปเรียนบ้าง มหาวิทยาลัยบ้านเราน่าเรียนทั้งน้าน....หากย้อนเวลาได้ จะตั้งใจเรียนแบบไม่ลืมหูลืมตาเลย
ส่วนใครมีความใฝ่ฝันอยากเป็นอะไร ประกอบอาชีพไหน ก็เตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ เอาใจช่วยทุกคนให้ได้ไปเรียนใน "มหา'ลัยในฝัน" นะจ้ะ
แล้วกลับมาพบกันอีกครั้ง ในเรื่องราวของมหาวิทยาลัยเอกชนน่าเรียน ส่วนจะเป็นมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ติดตามอ่านได้ที่นี่ ไทยรัฐไลฟ์สไตล์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น